ทฤษฏีว่าด้วยองค์ประกอบของบริการแบบเน้นการคืนสู่สุขภาวะ (Recovery Oriented Service) มีหลายสำนัก แต่ส่วนใหญ่ก็คล้าย ๆ กัน คือ เน้นจุดแข็ง เป็นการดูแลแบบองค์รวม เสริมสร้างพลังอำนาจ เน้นการเคารพผู้รับบริการ ผู้รับบริการกำหนดแนวทางเอง แต่ละคนมีเส้นทางไม่เหมือนกัน เส้นทางวนเวียนได้ เน้นความหวัง ผู้รับบริการรับผิดชอบตนเอง และการมีเพื่อนร่วมทาง
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าองค์ประกอบเหล่านี้ไม่ได้แยกเป็นเอกเทศจากกัน แต่มีผลกระทบเชื่อมโยงกัน ในครั้งนี้ เราลองมาดูองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้มีประสบการณ์กับความท้าทายทางจิตเวช นั่นคือ การเสริมสร้างพลังอำนาจ
เนื่องจากเวลาที่เราเผชิญกับอาการทางจิตเวช เราเสียการควบคุมตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิด การรับรู้ อารมณ์ความรู้สึก และหลายครั้งพฤติกรรม บ่อยครั้งคนแวดล้อมก็จำเป็นต้องควบคุมเรา ทำให้เรารู้สึกหมดพลังอำนาจทั้งภายในภายนอกมากขึ้นไปอีก
บริการที่จะฟื้นคืนความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีจึงน่าจะต้องเริ่มที่การสร้างเสริมให้ผู้รับบริการรู้สึกว่ามีพลังมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของตนเอง ประเด็นนี้จึงเสริมกันกับการสามารถตัดสินใจเลือกเส้นทาง เส้นทางนั้นเป็นเส้นทางเฉพาะตัวของเขา อาจไม่เหมือนใครอื่น การรับผิดชอบการคืนสู่สุขภาวะของตนเองก็เป็นอีกประการหนึ่งที่จะทำให้เขารู้สึกว่าตนมีพลังอำนาจในการดูแลตนเองและสถานการณ์ของตน และถ้าหากจะพลาดพลั้ง จากการเสี่ยงในการตัดสินใจ เส้นทางที่วนเวียนได้ก็จะบอกว่า เขาลุกขึ้นมาใหม่ได้พยายามใหม่ได้
นอกจากนี้ การได้ดูแลตนเองเป็นองค์รวม ไม่เพียงควบคุมอาการทางจิตเวช แต่การได้มีความหมายใหม่ ๆในชีวิตจากการเรียน การทำงาน ก็ย่อมสร้างเสริมพลังอำนาจให้เขารู้สึกว่า เป็นสมาชิกที่มีคุณค่าและมีสิ่งดีๆ ที่จะให้แก่สังคมที่ตนอยู่ด้วย
การสร้างเสริมพลังอำนาจไม่ใช่บอกว่า เข้มแข็งนะ เธอมีพลังอำนาจนะ แต่อยู่ที่บริการของเราให้เขาตัดสินใจ กำหนดทิศทางตนเอง และรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม เมื่อนั้น ผู้รับบริการจะตระหนักว่า เขาคือคนที่มีพลังอำนาจ เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นๆ