Home » เพื่อนเสริมสร้างชีวิต (Peer support providers)

เพื่อนเสริมสร้างชีวิต (Peer support providers)

คนที่มีประสบการณ์กับโรคจิตเวชแต่ละคน แม้ป่วยด้วยโรคเดียวกัน มีบางอาการในกลุ่มเดียวกัน ถึงกระนั้น แต่ละคนก็มีประสบการณ์ต่างกัน

 

ฉะนั้น เส้นทางคืนสู่สุขภาวะของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันทีเดียว หลักการอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ แต่จะเลียนแบบกันนั้น ไม่น่าเป็นผลดี เนื่องจากสถานการณ์ชีวิต สังคมแวดล้อม สิ่งแวดล้อมกายภาพของแต่ละคนก็ต่าง ๆ กัน ในแง่หนึ่ง การเดินทางบนเส้นทางโรคจิตเวชจึงต้องทำด้วยตนเอง ค้นหาเส้นทางของตนเอง บางครั้งความโดดเดี่ยวจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

 

เพื่อนเสริมสร้างชีวิตของผู้ป่วยจิตเวช เป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์ตรงกับโรคจิตเวช ได้เดินในเส้นทางการคืนสู่สุขภาวะมาระยะหนึ่งแล้ว ได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์กับโรคและเส้นทางคืนสู่สุขภาวะนี้ด้วยตนเอง ได้รับการฝึกอบรมวิธีการนำประสบการณ์ที่ผ่านพบ มาแบ่งปัน ในยามที่เดินเคียงข้างผู้ร่วมทางสายจิตเวช ด้วยความเคารพในตัวตนและประสบการณ์ของเขา รับฟัง ไม่ตัดสิน จริงใจ จริงจัง รอจังหวะก้าวของเขา เชื่อมโยงโดยไม่ครอบงำ ร่วมวางแผนและร่วมรับรู้ประสบการณ์ที่เขาผ่านพบซึ่งปั้นแต่งวัฒนธรรมและโลกทัศน์ของเขา ประคองความหวังไว้ในยามที่เขาหมดหวังในตนเอง พร้อมกันนั้นก็แสวงหาขอบเขตที่เหมาะสมระหว่างกัน

 

เพื่อนเสริมสร้างชีวิต จึงเดินเคียงข้าง ไม่ล้ำหน้า และไม่ล้าหลัง แม้บางครั้งอาจจะย่างเท้ายาวกว่าสักครึ่งก้าว แต่ก็ไม่ตลอดเวลา ไม่ตัดสินใจให้ ไม่ทำแทน ในบางครั้ง มีความเสี่ยงที่จะผิดพลาดบาดเจ็บ แต่ก็ต้องก้าวข้ามความกลัวไปสู่ความหวังด้วยกัน การเป็นเพื่อนเสริมสร้างชีวิตไม่ได้มุ่งแก้ไขของบกพร่องของเพื่อน แต่มุ่งที่ความสัมพันธ์ เพื่อนเสริมสร้างไม่ใช่คนที่เอาแต่ช่วยเหลือแต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน เติบโตไปด้วยกัน

 

เพื่อนเสริมสร้างชีวิต อาจเป็นกระบวนกรในการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ทำงานกับคนแต่ละคน เป็นคนจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ ทำงานเต็มเวลา หรืออาสาสมัคร ในองค์กรสาธารณสุข หรือในองค์ภาคประชาสังคม

 

ที่แน่ ๆ ก็คือ บริการแบบมุ่งสุขภาวะ (Recovery Oriented Service) ไม่อาจเป็นจริงได้โดยไม่มี เพื่อนเสริมสร้างชีวิต (Peer support providers)

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ